Monday, 20 June 2011

การกำหนดมื้ออาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์

อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์ 



ควรประกอบด้วยอาหารหลัก 5 หมู่ เพื่อให้ได้สาร อาหารครบถ้วน และ งดอาหารที่มีสาร Purineมาก



1. พลังงาน 

ในผู้ที่อ้วน จำเป็นต้องจำกัดพลังงานของอาหาร เพื่อให้น้ำหนักลดลง 

เนื่องจากความอ้วน ทำให้เกิดอาการโรคเก๊าท์รุนแรงขึ้น 

แต่ต้องระมัดระวังในระยะที่มีอาการรุนแรง ไม่ควรให้อาหารที่มีพลังงานต่ำเกินไป เพราะอาจทำให้มีการสลายของไขมันในเนื้อเยื่อไขมัน 

ซึ่งจะทำให้สารยูริคถูกขับออกจากร่างกายได้น้อย และ อาการของโรคเก๊าท์รุนแรงขึ้นได้ ผู้เป็นโรคเก๊าท์ไม่ควรอดอาหาร และ ควรได้พลังงานประมาณ 1,200-1,600 แคลอรี่/วัน




2. โปรตีน 

ควรได้รับอาหารโปรตีนตามปรกติ ไม่เกิน 1 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม 
โดยหลีกเลี่ยงโปรตีนที่มีสารPurineมาก

3. ไขมัน


ควรได้รับอาหารที่มีไขมันให้น้อยลง โดยจำกัดให้ได้รับประมาณวันละ 60 กรัม เพื่อให้น้ำหนักลดลง 
การได้รับอาหารที่มีไขมันมากเกินไป จะทำให้มีการสะสมสารไตรกลีเซอไรด์เพิ่มขึ้น 

ซึ่งการมีสารไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงขึ้น จะทำให้ขับถ่ายสารยูริคได้ไม่ดี 
และพบว่า ถ้าอ้วน และมียูริคในเลือดสูง เมื่อลดน้ำหนักลง กรดยูริคในเลือดจะลดลงด้วย

4. คาร์โบไฮเดรท


ควรได้รับให้พอเพียงในรูปของข้าว แป้งต่าง ๆ และผลไม้ ลดน้ำตาล 
เพราะถ้าน้ำตาลมาก ๆ จะทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ซึ่งจะมีผลต่อการขับถ่ายสารยูริคด้วย

5. แอลกอฮอล์ 

ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเหล้ามาก ๆ เพราะการเผาผลาญแอลกอฮอล์ จะทำให้มีกรดแลคติคเกิดขึ้น 
และมีการสะสมแลคเตตเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลให้กรดยูริคถูกขับถ่ายได้น้อยลง




การจัดอาหารให้ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ เพื่อให้ได้รับสารอาหารเพียงพอ



1. ในระยะที่มีอาการรุนแรง ควรงดอาหารที่มีพิวรีนมาก ในระหว่างมื้ออาหารให้ดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยขับกรดยูริค ช่วยรักษาสุขภาพของไต และ ป้องกันมิให้เกิดก้อนนิ่วที่ไต

2. งดเว้นอาหารที่ให้พลังงานมาก ได้แก่ ขนมหวานต่าง ๆ อาหารที่มีไขมันมาก เช่น อาหารทอด และ ขนมหวาน ที่มีน้ำตาล และ ไขมันมาก

3. รับประทานอาหารที่มีใยอาหารมาก จะช่วยลดน้ำหนัก

4. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะมีส่วนช่วยให้อาการของโรคเก๊าท์รุนแรงขึ้น

5. งดอาหารที่มีไขมันมาก เพราะไขมันจะขับกรดยูริคน้อยลง เกิดการคั่งของกรดยูริคในเลือดมากขึ้น


ที่มา : นพ.สุเมธ เถาหมอ โรงพยาบาล วิภาวดี

No comments:

Post a Comment